วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Main

จิตวิทยาเชิงบวกกับการพัฒนาปัญญาภายใน

การใช้จิตวิทยาเชิงบวก

      เมื่อเด็กรู้สึกถูกคุกคาม สมองชั้นในของเด็กจะทำงานก่อนจนอาจทำให้สมองส่วนอื่นๆทั้งส่วนการเรียนรู้คุณธรรมความรักหยุดทำงาน และเข้าสู่ภาวะปกป้องตัวเองหรือการเอาตัวรอด ตัวอย่างภาวะคุกคาม
      กรอบคิดทางจิตวิทยาเชิงบวกคือ ศรัทธาในความดีงามของมนุษย์ และบ่มเพาะผู้เรียนให้มีคุณค่าที่ดีงามซึ่งมีอยู่แล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น โดยปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
การกระทำที่ควรลด เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเด็กๆ ซึ่งมีมาอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นการลดการให้อาหารกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีหรืออารมณ์ด้านลบที่อยู่ภายในจิตของเด็กๆ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีเหล่านั้นไม่เติบโตเช่นความอยาก ความหยิ่ง ความลุ่มหลง ความคิดลบ ความโกรธฉุนเฉียวเจ้าอารมณ์ ความเกลียด ความท้อแท้ ความอิจฉาความกลัว ความเบื่อหน่ายเป็นต้น

ลดการเปรียบเทียบ 
      เราไม่ควรเปรียบเทียบเด็กๆ ไม่ว่าจะโดยการพูดหรือ การกระทำเพราะไม่มีใครอยากถูกเปรียบเทียบว่าตนเองเป็นผู้ที่ด้อยค่ากว่า เด็กทุกคนแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างเป็นธรรมชาติของตัวเองจึงไม่ควรเปรียบเทียบ พฤติกรรมระหว่างคนสองคน ถ้าจะชมหรือสะท้อนพฤติกรรมที่ต้องแก้ไขควรกระทำต่อเขาโดยตรงโดยไม่เปรียบเทียบกับคนอื่นหรือแม้แต่การทำงานเด็กๆ จะทำชิ้นงานหรือภาระงานที่ครูมอบให้ออกมาอย่างเต็มศักยภาพ ครูจึงไม่ควรเปรียบเทียบระหว่างเด็กแต่ละคน แต่ครูมีหน้าที่ที่ต้องรู้ให้ได้ว่าพัฒนาการหรือศักยภาพแต่ละด้านเขาอยู่ตรงไหน และหาวิธียกระดับเขาสูงขึ้นให้ได้ ครูไม่มีหน้าที่ตีตราโดยการให้ดาวหรือให้ลำดับ แต่สามารถสะท้อนกลับได้ การชื่นชมหรือการสะท้อนกลับที่ดีกลับจะสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจให้กับผู้เรียนได้อย่างดีเช่นกัน

ลดการตีค่าการตัดสินและการชี้โทษ 
      เด็กทุกคนทำชิ้นงานหรือภาระงานออกมาตามศักยภาพของตนเองอย่างไม่เสแสร้งงานที่ออกมาจะบอกถึงสิ่งที่เด็กรู้สิ่งที่เข้าใจหรือความสามารถของเด็ก ครูมีหน้าที่ต้องรู้ว่ายังเหลือส่วนใดบ้างที่เด็กแต่ละคนยังไม่เข้าใจ หรือยังไม่มีความ สามารถเพื่อจะได้ช่วยยกระดับเรื่องนั้นให้สูงขึ้นคำว่า“ศักยภาพที่สูงขึ้น” ไม่ได้มีขีดจำกัด ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องมีเกณฑ์ใดๆมาจับ ในการประเมินผู้ประเมินหรือครูต้องมีจิตของพรหมอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา ให้การประเมินเป็นไปเพื่อพัฒนาผู้เรียนไม่ใช่เพื่อการตัดสินใส่ความห่วงใยไว้ทุกๆ การประเมิน

พฤติกรรมของเด็กๆ ก็เช่นกัน การที่ครูเห็นว่าผิดเพราะเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างจากกรอบความเชื่อของครูอันเกิดจากกรอบจารีต ค่านิยม หลักศีลธรรม กฎหมาย ข้อตกลงอารมณ์ให้ครูต้องฉุนเฉียว แต่ครูไม่ควรเล่นบทของพระเจ้าที่มีอำนาจคอยเป็นผู้ชี้ถูกผิดและชี้โทษอยู่ร่ำไป แท้จริงเด็กแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกไปอย่างไม่รู้หรือไม่ก็เพราะความไม่รู้ตัว เพียงครูแสดงอาการตอบสนองให้เขารู้ตัวเช่นการนิ่ง หรือครูตั้งคำถามกลับเพื่อให้เด็กได้รู้ตัว เมื่อรู้ตัวชั่วขณะนั้นเด็กก็จะกำกับตัวเองได้และหยุดพฤติกรรมนั้นได้ชั่วขณะ แต่ชั่วขณะนี้กลับสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นสมองส่วนที่กำกับการแสดงออกด้วยอารมณ์ด้านบวกหรือด้านของความดีงาม ตัวอย่างคำถามกลับเพื่อให้เด็กได้รู้ตัวและใคร่ครวญ เช่น

“เกิดอะไรขึ้นเล่าให้ครูฟังหน่อย?”
“ตอนนี้เธอรู้สึกอย่างไร?”
“เธอคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร?”
“เธอคิดว่าควรทำอย่างไรที่ตัวเองจะสบายใจหรือคนอื่นจะสบายใจ?”
“เธอคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?”

สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องตระหนักให้มากคือเราไม่สามารถตามไปชี้ทางหรือตามไปบอกเด็กว่าอะไรควรหรือไม่ควร อะไรถูกหรือไม่ถูกได้ตลอดชีวิต หลังจากที่ไปจากเราเด็กจะเป็นผู้เลือกด้วยตัวเอง ในที่สุดการฝึกให้เด็กได้รู้ด้วยตัวเองอย่างนี้จะทำให้เด็กมีความชำนาญในการที่จะกลับมารู้ตัวได้เร็วขึ้น ทั้งกล้าหาญที่จะเผชิญความจริงอย่างองอาจ เราต้องเชื่อว่า ไม่มีพฤติกรรมใดเลวร้ายเกินกว่าที่จะให้อภัย และไม่มีอุปนิสัยใดที่จะแก้ไขไม่ได้ตราบเท่าที่ให้โอกาสแบบไม่จำกัด

ในอีกทางหนึ่ง ครูกลับได้รับโอกาสดีที่ถูกท้าทายด้วยพฤติกรรมของเด็กที่ทำให้ต้องหงุดหงิดฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด มันเป็นได้ทั้งเครื่องทดสอบตัวเองและเครื่องขัดเกลาใจตัวเองไปด้วยในตัว

ลดการล่อหลอกด้วยความอยากอันเป็นเงื่อนไขต่อความรัก 
      เราอาจจะเคยได้ยินว่าพ่อแม่หรือครูบางคนที่บอกเด็กๆ ว่าจะรักพวกเขาก็ต่อเมื่อพวกเขาทำตัวดีๆ ความรักที่มีเงื่อนไขจะทำให้จิตแคบลงซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกบีบคั้นหากไม่ได้ดั่งใจที่คาดหวัง ความอยากส่วนใหญ่เป็นความอยากในสิ่งที่ยังไม่มีจริงเป็นแค่สิ่งที่คาดหวัง การล่อด้วยความอยากก็จะตามมาด้วยการแข่งขัน แย่งชิงและการหมกมุ่นผูกมัดด้วยความอยากนั้น เช่นการบอกว่า “เธอต้องเรียนเก่งที่สุดจึงจะสอบเป็นหมอได้แล้วเธอจะร่ำรวยและมีชีวิตที่ดี”

ครูควรบอกเด็กๆว่า “แม้สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ครูก็ยังรักและศรัทธาในตัวเธอ” หรือ “ไม่ว่าเธอจะเป็นอย่างไรครูยังรักและศรัทธาในตัวเธอ” หรืออะไรทำนองนี้

ลดการสร้างภาพของความกลัวเพื่อการควบคุม 
     ความกลัวกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนอะมิกดาลาทำให้เด็กเข้าสู่โหมดปกป้องหลบหลีกจากสิ่งที่จะทำให้เจ็บปวด สิ่งคุกคามหรือภัยอันตราย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้เพราะทำให้เด็กไม่กล้าเผชิญกับสิ่งนั้น

ความกลัวเกิดจากการได้เผชิญกับสิ่งนั้นจริงด้วยการได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัสจริง เช่น ถูกตีถูกดุด่าถูกคาดโทษตีตราว่าล้มเหลว ถูกละทิ้งเพิกเฉยให้ไม่ได้รับความรัก ฯลฯ ต่อจากนั้นความกลัวส่วนใหญ่จะมาจากการสร้างภาพของความกลัวขึ้นมาโดยคนอื่นและตามมาด้วยการสร้างจินตนาการ ความกลัวของตนเอง หรือบางครั้งความกลัวก็เกิดจากความไม่รู้

ภาพของความกลัวถูกสร้างขึ้นในโรงเรียนนับร้อยพันอย่าง ส่วนใหญ่มีเบื้องหลังความคิดที่ต้องการควบคุม เช่น ถ้าส่งงานไม่ครบจะติด “ร” ถ้าไม่ตั้งใจเรียนจะสอบตกติด “0” หรือ จะให้ติด “มส” เพราะเวลาเรียนไม่ครบ ถ้าประพฤติไม่ดี จะถูกไล่ออกแล้วเครื่องหมายตราบาปเหล่านี้ก็ติดไปกับหลักฐานทางการศึกษาและติดอยู่ในใจของเด็กตลอดไป ทั้งที่ถ้าพิจารณาในเชิงจิตวิทยาเชิงบวก การกระทำของครูอย่างนั้น เป็นการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวเด็ก

ครูมีหน้าที่ที่จะสร้างหนทางให้เด็กได้มีโอกาสแก้ไขสิ่งต่างๆได้เสมอ หรือแค่เพียงชิ้นงานที่ส่งมาแม้ไม่ได้ครบทุกชิ้นครูก็สามารถประเมินอย่างรอบด้านเพื่อค้นหาความงอกงามได้แล้ว หรือ การที่เด็กไม่สามารถมาเรียนได้ก็สร้างโอกาสให้เขาได้เกิดการเรียนรู้ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมานั่งรวมกันต่อหน้าครูเสมอไป เด็กทุกคนต้องการทางเลือกและโอกาสแบบไม่จำกัด ครูมีหน้าที่อำนวยการให้เด็กรักที่จะเรียนรู้และอำนวยการให้เกิดการเรียนรู้

ลดคำพูดด้านลบ
     การพูดคำด้านลบเช่นการปรามาส การเย้ยหยัน การดุด่า การกดดันคาดคั้น การล้อเลียนถึงปมด้อย การตั้งฉายา ล้วนแต่เป็นคำที่ให้อาหารหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ไม่ดีในจิตให้เติบโต เช่นความกลัว ความเกลียด ความเศร้าหมอง ความรู้สึก ด้อยค่าเป็นต้น ทั้งยังเป็นการฝังความไม่จริงเหล่านั้นลงในจิตใต้สำนึกเพื่อให้มันส่งผลให้เป็นจริงในอนาคต ดังประโยค ที่ว่า “เมื่อเราคิด เราพูด เราจะเป็น”

เลิกใช้ความรุนแรง 
     ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของสัตว์ที่แสดงออกมาเพื่อความอยู่รอด แต่มนุษย์ที่มีสมองส่วนหน้าซึ่งวิวัฒนาการมาใหม่กว่าสัตว์ใดๆ เป็นสมองที่เรียนรู้และคอยกำกับเรื่องความดีงาม คุณธรรมจริยธรรมและการแสวงหาสัจจะสูงสุด ด้วยสมองส่วนนี้มนุษย์จึงมีศักยภาพที่จะหยุดความรุนแรง เราแต่ละคนมีหน้าที่หยุดสัญชาตญาณความรุนแรงและ การกดขี่ภายในจิตมนุษย์ด้วยการไม่ส่งต่อพฤติกรรมเหล่านั้นไปยังเด็กๆหรือคนรุ่นต่อๆไป

สิ่งที่ควรทำสำหรับจิตวิทยาเชิงบวก
เพื่อให้อาหารแก่เมล็ดพันธุ์ดีในจิตให้งอกงามเช่น ความรัก ให้อภัยความเบิกบาน ความสงบ เมล็ดพันธุ์ปัญญา ความสุข เป็นต้น
การสร้างภาพพจน์ด้านบวกให้กับผู้เรียนทุกคนโดยการให้ความรัก ให้เกียรติ รับฟัง แสดงความชื่นชมเมื่อมีโอกาส สร้างโอกาสให้เด็กได้ทำงานสำเร็จด้วยตัวเองเสมอๆตั้งแต่การซักถุงเท้าเองหิ้วกระเป๋าเองทำงานในหน้าที่ที่ครูมอบหมาย เพื่อให้เด็กทุกคนรู้สึกได้ว่าตนเองมีคุณค่าได้รับความรักและมีความสามารถ 

การปรับพฤติกรรมเชิงบวก 

      ต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่าพฤติกรรมมนุษย์แสดงออกนั้นเป็นผลมาจากกระบวนการเรียนรู้และการหล่อหลอมมาจากอดีต พฤติกรรมด้านลบที่แสดงออกมานั้นอาจสืบเนื่องจากการทำงานของสมองส่วนอะมิกดาลาซึ่งจะแสดงออกอย่า’อัตโนมัติเมื่ออยู่ในภาวะกังวล ตระหนกหรือกลัว ทั้งนี้เป็นไปเพื่อปกป้องตนเอง
ส่วนพฤติกรรมที่แสดงออกมาจากการทำงานของสมองส่วนหน้าจะแสดงออกด้วยอารมณ์ด้านบวกหรือด้านของความดีงาม แต่ด้วยการทำงานของสมองสองส่วนที่เป็นปฏิภาคกันนั่นคือเมื่อสมองส่วนหน้าทำงานส่วนอะมิกดาลาจะไม่ทำงานหรือแบบตรงข้ามกัน เราจึงมีโอกาสที่จะฝึกฝนให้สมองส่วนหน้าได้ทำงานเพื่อให้เด็กๆได้แสดงออกด้านบวกหรือด้านดีงามมากยิ่งขึ้น

ในการแก้ไขพฤติกรรมด้านลบต้องเริ่มต้นจากให้เชื่อว่า ทุกพฤติกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยให้การเรียนรู้ใหม่เป็นการเรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรมแบบใหม่ โดยให้รู้ตัว ให้การเรียนรู้ และให้การฝึกฝน ซึ่งเป็นความสามารถของสมองส่วนหน้าอยู่แล้ว เมื่อผ่านการเรียนรู้และการฝึกฝน ก็จะกลายเป็นอุปนิสัยคือเป็นพฤติกรรมใหม่ที่แสดงพฤติกรรมด้านบวกออกไปอย่างอัตโนมัติ

ให้การรู้ตัว ต้องกระทำด้วยจิตใหญ่คือเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา พร้อมที่จะให้อภัยและให้โอกาสแบบไม่จำกัด เพราะพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกส่วนใหญ่จะเป็นไปแบบอัตโนมัติ เป็นไปโดยไม่รู้ตัวว่าผิด-ถูกหรือ ไม่รู้ว่าเหมาะสม-ไม่เหมาะสม นั้นคือไม่รู้ตัวว่า “ไม่รู้” การทำให้เด็กรู้ตัวเป็นบันไดขั้นแรกของการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขพฤติกรรม ซึ่งอาจใช้วิธีการตั้งคำถามเช่น “เกิดอะไรขึ้น เล่าให้ครูฟังหน่อย?” “เธอกำลังรู้สึกอย่างไร?” “เธอคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร?” การทำให้รู้ตัวเราไม่ควรชี้ถูกผิดหรือชี้โทษ และไม่ควรใช้คำพูดในลักษณะตีตรา การรู้ตัวโดยเฉพาะเมื่อรู้ตัวว่าทำไม่ถูกต้องก็เท่ากับการได้หยุดสมองส่วนอะมิกดาลาเพื่อให้สมองส่วนหน้าได้ทำงานขั้นต่อไป

ให้การเรียนรู้คือการให้เด็กได้ใคร่ครวญกับสิ่งที่เกิดขึ้น ครูอาจจะตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้คิดเทียบเคียงด้วยตนเองกับผลของการแสดงพฤติกรรมทั้งด้านบวกและด้านลบต่อเหตุการณ์นั้น และควรถามเพื่อให้เด็กได้คิดเองว่า “จะแก้ไขสิ่งนั้นได้อย่างไร” หลังจากนั้นครูควรให้การเรียนรู้ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านลบนั้นต่อผ่านเรื่องเล่าจากเหตุการณ์จริงที่เป็นผลของการแสดงออกต่อเหตุการณ์นั้นทั้งทางด้านลบและด้านบวก หรือละครปรับพฤติกรรม

ให้การฝึกฝน หมายถึงการให้เด็กได้แสดงพฤติกรรมด้านบวกออกมาจริงๆ ไม่ใช่แค่พูด โดยใช้พฤติกรรมแม่แบบในการชักนำ อาจเอาแม่แบบจากคนในสังคมที่เป็นแรงบันดาลใจ พ่อแม่หรือครูก็ต้องเป็นแบบถูก เช่น เมื่อรู้ว่าร้านค้าทอนเงินให้เกินพ่อแม่ต้องแสดงให้เด็กเห็นว่าไม่ถูกต้องซึ่งต้องคืนเงินส่วนที่ได้รับเกินมา เมื่อเห็นขยะซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นคนทิ้งเราก็ก้มเก็บไปทิ้งถังขยะเสียเองแทนที่จะพร่ำบ่นหรือต่อว่าเด็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้นเมื่อเด็กพูดไม่ถูกต้องหรือพูดคำไม่สุภาพครูไม่ควรผลีผลามตำหนิออกไปแต่ให้พูดสิ่งที่ถูกต้องแทนเพื่อให้เด็กได้พูดทวนคำที่ถูกต้องนั้น

      หรือขณะที่ครูกำลังสอนถ้ามีเด็กบางคนเล่นกันไม่ตั้งใจเรียนแทนที่ครูจะตำหนิเด็กคนนั้นครูอาจจะใช้การชมหรือขอบคุณผู้ตั้งใจเรียนแทน เมื่อเด็กได้เรียนรู้ว่าจะแก้ไขพฤติกรรมด้านลบเหล่านั้นอย่างไรแล้วครูต้องสนับสนุนให้เขาแก้ไขสิ่งนั้นให้ลุล่วงด้วยตนเองแล้วให้การชื่นชม การทบทวนฝึกฝนยังต้องทำต่อไปอีกระยะ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าพฤติกรรมด้านลบนั้นฝังอยู่ในจิตลึกเพียงใด

กระบวนทัศน์ "จิตศึกษา

กระบวนทัศน์ของ “จิตศึกษา”

ฟันเฟืองสำคัญสามตัว ได้แก่
      1. ความเป็นชุมชน ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่และบรรยากาศที่เสมือนเป็นเบ้าหลอมใหญ่
      2. จิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งเป็นวิธีการที่เน้นชี้ถูก และ การเป็นแบบอย่าง
      3. กิจกรรม ซึ่งเป็นเครื่องมืออันหลากหลายที่ใช้ฝึกฝน
กิจกรรมจิตศึกษามีการจัดใน 2 รูปแบบดังนี้

รูปแบบที่ 1 จัดกิจกรรมในคาบเวลาของ “จิตศึกษา”

      โรงเรียนสามารถจัดใช้เวลาสำหรับกิจกรรมจิตศึกษาเพื่อมุ่งเป้าหมายพัฒนาปัญญาภาในให้กับผู้เรียนไว้โดยเฉพาะ ซึ่งควรใช้เวลาประมาณ 20 นาทีก่อนเรียนในภาคเช้าและ 15 นาทีก่อนเริ่มการเรียนในภาคบ่าย ทั้งนี้จะได้คุณค่าเพิ่มตรงที่กิจกรรมจิตศึกษายังเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งทางกายและใจให้กับผู้เรียนก่อนเรียนไปด้วยในตัว และ อีกช่วงหนึ่งอาจจัดตอนสิ้นวันโดยใช้เวลาประมาณสัก 20-30นาที เพื่อให้ทุกคนได้กลับมาสู่ความสงบ กลับมาสู่ตัวเอง แล้วใคร่ครวญและสะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนมาทั้งวัน ก่อนการกลับบ้าน


รูปแบบที่ 2 การบูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจิตศึกษาในหน่วยการเรียนหลัก
ศาสตร์ (เนื้อหา) / ตัวอย่างกิจกรรม


      1. การเรียนรู้จักรวาลวิทยา (Cosmology) เพื่อให้เห็นหรือตระหนักรู้ว่าตัวเราเล็กนิดเดียวโลกเราเล็กนิดเดียวได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์จักรวาลประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลกและการผ่านช่วงเวลาต่างๆของโลกการกำเนิดสิ่งมีชีวิตและการค้นหาเจตจำนงที่มีความหมายของการกำเนิดสิ่งต่างๆรวมทั้งตัวเอง
ตัวอย่างกิจกรรมดูดาวดูพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกสารคดีการกำเนิดมนุษย์หรือการเกิดโลกและจักรวาลเรียนรู้ปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นฝนดาวตกสึนามิแผ่นดินไหว
      2. การเรียนรู้และสัมผัสนิเวศแนวลึก (Deep Ecology) เพื่อจะได้ตระหนักว่าจักรวาลหรือโลกคือศูนย์กลางไม่ใช่มนุษย์สิ่งต่างๆมีคุณค่าในตัวไม่ได้มีคุณค่าเพราะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ทุกสิ่งมีประโยชน์การนำสิ่งที่คิดว่าไม่มีประโยชน์มาสร้างให้เป็นประโยชน์การดำรงอยู่อย่างสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆอย่างเป็นหนึ่งเดียว
ตัวอย่างกิจกรรมการดูนกหรือสังเกตพฤติกรรมพืช-สัตว์การจัดการของเสียให้มีคุณค่าการใช้ประโยชน์จากสิ่งพื้นๆการมองหาคุณค่าจากสิ่งที่ไม่มีค่าการฟังเสียงจากธรรมชาติ
ตัวอย่างความรู้สึกเชิงระบบนิเวศน์แนวลึก
ใบไม้ขอนไม้ทิ้งเกลี่ยเรี่ยลาดต้นไม้หลากหลายพันธุ์เบียดแบ่งแสงกันเห็ดราซอนไซกับกิ่งใบไม้ผุเรียกหมู่มดปลวกแมลงมาหาอาหารและทำรังนกเล็กๆก็พลอยมีอาหารและที่หลบภัยแม้ว่าที่นี่จะเป็นที่รกเรื้อไร้ระเบียบแต่กลับเป็นระบบที่จัดการตนเองและเกื้อกูลกันเห็ดรารู้ว่าจะหาขอนไม้ผุได้จากที่ไหนส่วนมดปลวกก็ทำหน้าที่ตนเองโดยไม่มีใครสั่ง
      3. การร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตรเช่นกิจกรรมทางศาสนาพิธีกรรมบางอย่างกิจกรรมการสวดมนต์การภาวนาฝึกจิตภาวนาแบบทอเลน(เปลี่ยนความเลวร้ายให้บริสุทธิ์โดยหายใจเข้าเอาพิษร้ายแห่งความเกลียดชังความกลัวความโหดร้ายเข้าไปหายใจออกทดแทนความชั่วร้ายเหล่านั้นด้วยความดีงามเช่นความกรุณาและอโหสิกรรม) การสร้างศรัทธาต่อชีวิตหรือบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายต่อตนหรือกิจกรรมเสริมหลักสูตรนอกโรงเรียนเช่นกิจกรรมเดินทางไกลเพื่อเพิ่มขีดความอดทนทั้งทางด้านจิตใจและร่างกายกิจกรรมการปลีกวิเวก (Retreat) ไกลจากผู้คนใกล้ชิดธรรมชาติสงัดสงบลำพังเช่นเข้าค่ายอนุรักษ์ได้อยู่มุมเงียบๆตามลำพังบนบ้านต้นไม้การเดินทางไกล
      4. การได้ปฏิบัติงานศิลปะดนตรีหรือการละครเพื่อการเข้าถึงความรู้สึกอันละเอียดอ่อนด้านในของมนุษย์
      5. การได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทางสังคมจิตอาสาและการบำเพ็ญประโยชน์เช่นอาสาสมัครช่วยสอนหนังสือน้องในโรงเรียนหรือโรงเรียนอื่นๆ
      6. การได้ใช้กิจกรรมในการรับรู้และการรับฟังอย่างลึกซึ้งที่เป็นการสื่อสารแนวราบเน้นการฟังอย่างมีคุณภาพไม่เน้นการตัดสินกระบวนการนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและเกิดปัญญาร่วม
      7. การได้ทำกิจกรรมของหลักสูตรซ่อนซึ่งไม่มีการกำหนดเป้าหมายเวลาเครื่องมือหรือการวัดผลใดๆไว้เลยเช่นงานอดิเรกการเล่นอิสระการปะทะกับสังคมและสิ่งแวดล้อมการกลับไปสู่วัยเด็กอันบริสุทธิ์

ขั้นตอนกิจกรรมจิตศึกษา 20 นาทีก่อนเรียนภาคเช้า

กิจกรรมเริ่มต้น 
(2-4 นาที)
ครูและนักเรียนนั่งลอมวงกลมเป็นวงเดียวเพื่อเปิดพื้นที่เข้าหากัน เพื่อให้การแสดงออกต่อกันเป็นไปอย่างเปิดเผยด้วยภาษาพูดและภาษากาย หากพื้นที่ไม่เพียงพอก็จัดให้เด็กนั่งตามเหมาะสมแต่ให้พยายามไห้ทุกคนได้มองเห็นกันและกันให้มากที่สุด และไม่เบียดชิดกันเกินไป หรือ ครูอาจจัดนอกห้องเรียนใต้ร่มไม้ที่มีพื้นที่โปร่งสบาย ให้ผู้เรียนที่คนรู้สึกผ่อนคลายไม่รู้สึกว่าถูกบังคับหรือถูกคุกคาม
กิจกรรมเพื่อการมีสติฝึกฝนให้กลับรู้ตัวกับสิ่งที่ทำเช่น กำหนดการรับรู้ที่ลมหายใจเข้าออก รับรู้การเคลื่อนไหวของนิ้วหรือมือ การรับฟังเพื่อแยกแยะเสียงธรรมชาติที่อยู่รอบตัว
กิจกรรมหลัก (10-15 นาที)
เป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายชัดเจน เช่น เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและสรรพสิ่ง เพื่อการค้นลึกเข้าไปในตนแล้วสะท้อนตนเองออกมา เพื่อให้เห็นคุณค่าของคนอื่นและการเคารพกันและกัน เพื่อฝึกสมาธิ เป็นต้น และในการจัดกิจกรรมต้องเป็นกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์กันของกลุ่มคนที่ทำ
กิจกรรมจบ (1-3 นาที) ให้ทุกคนได้มีโอกาสขอบคุณคนอื่นหรือสิ่งต่างๆ และให้ได้มีโอกาสEmpowerกันและกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น